วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

วิธีคำนวณการ ขายบ้าน !!ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง?

คำนวณภาษีจากการขายบ้าน

ขายบ้าน
รู้สักนิดการ! ขายบ้าน ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง?
ในปัจจุบันปัจจัยหลักๆ ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เราหลายๆ คนคิดจะขายบ้านเก่าหรือคอนโดเก่าแล้วไปซื้อบ้านใหม่ ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าบ้านเดิมของตัวเองนั้นตั้งอยู่บริเวณบนพื้นที่ที่มีราคาประเมินสูง อยากย้ายถิ่นฐานทำมาหากิน ต้องการเปลี่ยนที่อยู่ บ้างก็มีเหตุผลที่ว่าการซ่อมบ้านเก่าหรือคอนโดเก่านั้นเป็นตัวเลือกที่ได้ไม่คุ้มเสีย โดยตั้งใจจะขายบ้านเก่าเพื่อไปหาซื้อบ้านใหม่เพื่อความสบายใจ ซึ่งหลายคนคาดหวังกับการขายบ้านว่าจะได้เงินมาเป็นทุนในการซื้อบ้านใหม่/คอนโด แต่ก็ต้องผิดหวังเมื่อต้องเจอกับค่าใช้จ่ายต่างๆมากมาย ที่เกิดขึ้นจากการขายบ้านเดิม หรือที่เรียกว่า ภาษีจากการขายบ้าน

          ซึ่งนั่นจะทำให้เงินที่ได้จากการขายบ้านลดน้อยลงกว่าที่คาดไว้ และส่งผลทำให้มีเงินทุนในการซื้อบ้านใหม่น้อยลงกว่าที่คิดไว้ จนต้องยอมควักเนื้อตัวเองมากขึ้น ดังนั้น วันนี้เรามาดูกันสักนิดว่า ภาษีจากการขายบ้าน นั้นจะมีอะไรกันบ้าง เพื่อที่จะได้เตรียมตัวให้ดี ก่อนคิดที่จะขายบ้าน โดยที่ท่านต้องไม่ลืมว่า ภาระในการเสียภาษีทั้งหมดทั้งมวล ผู้ที่จะต้องรับภาระตามกฏหมายนั้นก็คือผู้ ขายบ้าน และหากจะให้ผู้ซื้อรับภาระในการเสียภาษีด้านใดด้านหนึ่ง ก็ควรจะต้องตกลงกันให้เรียบร้อยก่อนที่จะดำเนินการทางนิติกรรม

1.ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

          ราคาขายบ้านที่จะนำมาใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหักภาษี ณ ที่จ่าย นั้น โดยจะใช้ราคาประเมินของกรมที่ดินเป็นเกณฑ์ ซึ่งจะเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนเท่านั้น โดยจะไม่คำนึงว่าราคาซื้อขายจริงนั้นจะเป็นเงินเท่าใด เช่น การซื้อขายบ้านหลังนี้ราคาจริงอยู่ที่ 4 ล้านบาท แต่ว่าราคาประเมินอยู่ที่ 5 ล้านบาท ก็ต้องคำนวณภาษีจากที่ประเมินราคา 5 ล้านบาท หรือถ้าหากราคาประเมินอยู่ที่ 2 ล้านบาท แต่จะซื้อขายกันในราคา 3 ล้านบาทก็จะคำนวนภาษีจากราคา 2 ล้านบาท

ตารางการหักภาษีตามปีที่ถือครอง
จำนวนปีที่ถือครองบ้าน        หักค่าใช้จ่ายเป็นเปอร์เซ็น (%)
1                              92%
2                              84%
3                              77%
4                              71%
5                              65%
6                              60%
7                              55%
8 ขึ้นไป                      50%

โดยวิธีนับจำนวนปีที่ถือครองนั้น จะยึดหลักตามปี พ.ศ.ที่ถือครอง ยกตัวอย่างเช่น ซื้อบ้านวันที่ 10 ธันวาคม 2556 และขายวันที่ 10 มกราคม 2558 เท่ากับจำนวนปีที่ถือครอง 3 ปี ซึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 77% และสมมติว่าราคาขายบ้านตั้งไว้ที่ 11 ล้านบาท แต่กรมที่ดินประเมินราคาให้ 9 ล้าน เจ้าของบ้านจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่ายดังนี้

**เงินได้ตั้งแต่ 500,001 ถึง 1 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีในอัตรา 20%
ประเมินราคา                                                         9,000,000 บาท
หัก – ค่าใช้จ่ายเหมา (ถือครอง 3 ปี หักได้ 77%)      6,930,000 บาท
คงเหลือ                                                               2,070,000 บาท
หาร – ปีที่ถือครอง (2,070,000 ÷ 3)                       690,000 บาท
คำนวณภาษี

-100,000 แรก × 5%
-400,000 × 10%
-190,000 × 20%                                                        83,000 บาท
ภาษี ณ ที่จ่าย (ภาษี × จำนวนปีที่ถือครอง)                     249,000 บาท

 และจากตัวอย่างข้างต้นนี้ ก็จะเห็นได้ว่าการคำนวณภาษีจากการขายบ้านจะแตกต่างจากการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประเภทอื่นๆ นั่นก็คือ จะไม่มีการยกเว้นภาษีเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรก เนื่องจากไม่ใช่การที่คำนวณเงินได้จากเงินได้สุทธิ ส่งผลให้เงินได้ 100,000 บาทแรกต้องเสียภาษี 5,000 บาท ส่วนเงินได้ตั้งแต่ 200,000 ถึง 500,000 บาท ต้องเสียภาษีที่อัตรา 10%

2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ

          สำหรับภาษีประเภทนี้จะเป็นภาษีที่จะคิดในกรณีที่บ้านที่เราขายนั้น บ้านเราถือครองมาไม่ถึง 5 ปีครับ โดยนับตั้งแต่วันที่รับโอนบ้านมา ซึ่งภาษีธุรกิจเฉพาะนี้จะคิดอยู่ที่อัตรา 3.3% ของราคาขายจริงหรือราคาประเมิน แล้วแต่ว่าราคาไหนที่สูงกว่ากันก็ให้ใช้ราคานั้นในการคำนวณ

          ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่กล่าวไปในข้อแรก หากเราขายบ้านในราคา 11 ล้านบาท โดยราคาประเมินอยู่ที่ 9 ล้านบาท และเราถือครองบ้านหลังนั้นมา 3 ปี (น้อยกว่า 5 ปี) เราจึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอีก 3.3% โดยคำนวณจากราคาขายจริง (เพราะราคาสูงกว่าราคาที่ประเมิน) ดังนั้น เราจึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอีก 363,000 บาทครับ

ทั้งนี้แล้ว นอกจากที่เงื่อนไขถือครองบ้านไม่ต่ำกว่า 5 ปีแล้ว และมียังมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเพิ่มเติม ดังนี้ค่ะ

- ท่านมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเกินกว่า 1 ปี ที่ได้รับบ้านหลังนั้นมา
- เมื่อถูกเวนคืนบ้านหรือที่ดิน
- การขายบ้านหรือที่ดินนั้นที่ได้มาโดยมรดก

3. อากรแสตมป์

          สำหรับ รายรับจากการขายบ้านหรือที่ดินนั้น ท่านจะต้องเสียค่าอากรแสตมป์ในอัตรา 0.5% ของราคาประเมิน ซึ่งในกรณีตัวอย่างข้างต้น ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 45,000 บาท (0.5 x 9,000,000) แต่อย่างไรก็ตาม หากมีการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอยู่แล้ว จะได้รับการยกเว้นการเสียค่าอากรแสตมป์ หรือสรุปได้ว่า เมื่อเราขายบ้านนั้น ก็จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือค่าอากรแสตมป์อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นจะไม่เรียกเก็บทั้ง 2 ประเภท นั่นเองแหล่ะครับ

4. ค่าธรรมเนียมในการโอน

          ซึ่งอัตราค่าธรรมเนียมการโอนของกรมที่ดิน จะคิดอยู่ที่ 2% ของราคาประเมิน ซึ่งในกรณีตัวอย่างข้างต้น เราจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการโอน 180,000 บาท (2 x 9,000,000)

          และจาก 4 ข้อที่กล่าวมานั้น รวมแล้วหากเรานั้นขายบ้านในราคา 11 ล้านบาท และมีราคาประเมินอยู่ที่ 9 ล้านบาท เราจะต้องจ่าย “ภาษีจากการที่ขายบ้าน” ถึง 792,000 บาท หรือคิดเป็นเปอร์เซ็น 7.92% ของราคาขาย (ในกรณีต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ) หรือเสียขั้นต่ำอยู่ที่ 474,000 บาท คิดเป็น 4.74% ของราคาขาย (ในกรณีไม่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จึงต้องเสียค่าอากรแสตมป์) ซึ่งก็นับว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงอยู่ไม่น้อยเลยนะครับ

          ท้ายนี้เมื่อท่านมีความต้องการจะขายบ้านหรือคอนโดมิเนียม ก็ควรที่จะศึกษารายละเอียดรวมทั้งคำนวณค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นออกมาคร่าวๆก่อน เพื่อที่ท่านจะได้ตกลงราคาขายบ้านที่แน่นอนได้ และก็ข้อสำคัญเลย หากท่านติดต่อทำการซื้อขายบ้านผ่านนายหน้า ก็อย่าลืมบวกเงินค่าตอบแทนที่ให้นายหน้าเพิ่มเข้าไปด้วย เพราะถ้าหากท่านไม่บวกเข้าไปด้วยล่ะก็ ราคาบ้านที่ได้มาอาจจะขาดทุนหนักไปมากกว่าเดิมด้วยนะครับ

ที่มาของข้อมูล http://www.rd.go.th/publish/286.0.html

ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.facebook.com/DSteelFrame

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น