ทำความรู้จัก คำว่า ฮวงจุ้ย ภายในบ้าน
เมื่อได้มีการซื้อขายบ้านใหม่ ไม่ว่าคุณหรืออาจจะเป็นคนอื่น จะนึกถึง “ฮวงจุ้ย” ปัจจุบันได้รับความนิยมกันอย่างกว้างขวางเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกคนรู้จัก แต่รู้อย่างถูกบ้างผิดบ้าง หลายคนอาจเชื่ออย่างงมงาย โดยไม่รู้เหตุผลและที่มาที่ไปว่าเป็นอย่างไร แม้กระทั่งอาจารย์ดู บางรายก็สอนและให้ข้อแนะนำคนอื่นอย่างผิด ๆ ในหลาย ๆ เรื่อง ที่แท้จริงนั้น คืออะไร“ฮวงจุ้ย” คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วย การจัดแต่งอาคารบ้านเรือนสิ่งแวดล้อม ให้เหมาะสมกับภูมิประเทศ และภูมิอากาศในระแวกนั้น เพื่อให้คนอยู่ดี มีสุข นั่นเอง คำว่า “ฮวงจุ้ย” แบ่งเป็นคำ 2 คำ ภาษาจีน อ่านเป็นภาษาแต้จิ๋วว่า “ฮวงจุ้ย” หรืออ่านเป็นภาษาจีนกลางว่า “ฟงสุ่ย”
“ฮวง” หรือ “ฟง ” แปลว่า “ลม” หมายถึง “ภูมิอากาศ”
“จุ้ย” หรือ “สุ่ย ” แปลว่า “น้ำ” หมายถึง “ภูมิประเทศ”
“ฮวงจุ้ย” ถือกำเนิดในประเทศจีนมานานนับพันปี โดยได้นำเอาหลักฐานสถิติตัวอย่างของความอยู่ดีมีสุข และ ความอับโชคให้ทุกข์ต่าง ๆ นานา ในอดีตที่ผ่านมาประมวลเป็น ทฤษฎี “ฮวงจุ้ย” แต่ต้องไม่ลืมว่าเป็นภูมิประเทศ ภูมิอากาศในประเทศจีน ซึ่งทั้งเหมือนและแตกต่างจากในประเทศไทย
ในด้านภูมิประเทศ ในประเทศ จีน-ไทย ไม่ได้ต่างกันมาก เพราะภูมิประเทศนั้นมีน้ำ มีดิน มีที่เนิน มีที่ลุ่ม มีต้นไม้คล้ายกัน ส่วนทางด้านภูมิอากาศ ในประเทศจีน-ไทย ถึงแม้จะอยู่ในอีกซีกโลกเหนือเหมือนกันแต่แตกต่างกันมากกว่า เพราะ ภูมิอากาศส่วนใหญ่ของประเทศจีนนั้น อยู่ในเขตอบอุ่น มีฝนตกแต่ไม่มาก หน้าหนาว ลมจากทิศเหนือจะแรงมาก ลมเย็น จากทิศใต้ จะเป็นหน้าร้อน ประเทศไทยนั้นจะอยู่ในเขตของภูมิอากาศแบบมรสุมเมืองร้อน ฝนตกชุก ลมไม่แรง แต่มีสิ่งคล้ายคลึงกับเมืองจีน คือ ทิศทางของลมหนาวส่วนใหญ่จะพัดมาจาก ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นลมมรสุม ตะวันตกเฉียงใต้ในหน้าร้อน
เมื่อเข้าใจถึง “ความเหมือน” และ ”ความแตกต่าง” เราจึงต้องเลือกเอาที่สิ่งที่เหมือน และใช้ได้เหมาะสมกับเมืองไทยมาใช้ และต้องงดเว้นหรือปรับเปลี่ยน สิ่งที่ไม่เหมาะสมกับเมืองไทยให้เหมาะสม
ตัวอย่าง
1. ประตูหน้าบ้าน
อาจารย์ “ฮวงจุ้ย” หลายคนแนะนำให้ประตูหน้าบ้านในเมืองไทยต้องเปิดออก ตามตำราที่จำและลอกมาจากจีน ซึ่งไม่ถูก
ผมเข้าใจเรื่องนี้ดี อย่างถ่องแท้และลึกซึ้ง เมื่อผมได้มีโอกาสอยู่และเรียนหนังสือในรัฐ ILLNOIS สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอากาศอบอุ่นคล้ายประเทศจีน หน้าหนาวลมพัดแรงมากจนตัวเราเองนั้นเกือบปลิว มีหิมะตกแต่ฝนไม่มาก ถ้าเปิดประตูหน้าบ้านออกจะเปิดยากมาก ดังนั้น เปิดประตูเข้าไปในบ้านจึงง่ายกว่า โดยเฉพาะเวลาต้องหอบของพะรุงพะรังด้วย แต่เมื่อเข้าบ้านแล้ว สามารถใช้ตัวช่วยดันประตูปิดได้ไม่ยาก อนึ่ง ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำฝนที่เกาะประตูไหลลงพื้นบ้าน แต่ในเมืองไทยซึ่งฝนตกชุก ถ้าเปิดประตูเข้าบ้านในหน้าฝน น้ำฝนที่ค้างอยู่บนบานประตู จะไหลลงพื้นบ้านเปียกเลอะเทอะ
ดังนั้น ที่ถูกต้องและสะดวกต่อการใช้สอย ประตูหน้าบ้านของเมืองไทย จึงควรเปิดออกมากกว่าแทนการเปิดเข้า แบบในเมืองจีน และเปิดประตูออกก็ไม่ยาก เพราะลมไม่ได้แรงมาก ไม่ว่าจะเปิดหน้าร้อนหรือหน้าหนาวก็ตาม
2. ธรณีประตู
สมัยนี้วิธีการก่อสร้างเปลี่ยนไป ประตูบ้านไม่จำเป็นต้องทำธรณี แต่ผมเห็น อาจารย์ “ฮวงจุ้ย” หลายคน แนะนำทางทีวี ให้ทำธรณี เพื่อป้องกันความชั่วร้ายอับโชค ซึ่งยังคงพิสูจน์ไม่ได้ แต่นั่นกำลังทำให้เกิดโอกาสที่จะสะดุดหกล้มได้ง่าย โดยเฉพาะคนสูงอายุ เมื่อมีอุบัติเหตุหกล้มเพียงครั้งเดียว ก็เท่ากับธรณีกลับเป็นตัวนำความโชคร้ายมาสู่บ้านอย่างชัดเจน
3. ที่ดินงอก-ที่น้ำเซาะ
ตัวอย่างของการตั้งเมืองหลวงกรุงธนบุรีบนฝั่งน้ำเซาะ กรุงธนบุรีก็อยู่ได้เพียง 15 ปี ก็สิ้นราชวงศ์ แต่ กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บนฝั่งดินงอก ประเทศก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อย ๆ อยู่มาได้กว่า 200 ปี แล้วบ้านเรือนคนทั่วไป ที่ตั้งอยู่ในฝั่งน้ำเซาะ ตอ้ งเสียเงินเสียทองทำเขื่อนที่แข็งแรงมากถึงจะไม่เสียที่ดินถูกน้ำเซาะหายไป แต่ฝั่งดินงอกกลับได้ที่ดินเพิ่มพร้อมทั้งกระแสนน้ำจะพัดพาเอาปุ๋ยมาเพิ่มให้กับดินด้วย
4. หลบแดด-รับลม หน้าน้ำ-หลังเขา
ตัวอย่างพื้นฐานการวางอาคารบ้านตามหลัก “ ฮวงจุ้ย” คือ การวางอาคารหลบแดดรับลม โดยเอาด้านยาวของอาคารหันรับลมจากทิศใต้ ด้านแคบของอาคารหันไปทางทิศตะวันออก-ตก (ไม่ขวางตะวัน) โดยเฉพาะถ้ามี บ่อน้ำ,สระน้ำ,แม่น้ำ,ทะเล อยู่ด้านหน้าก็จะยิ่งดีอย่างยิ่ง เพราะน้ำเมื่อระเหยทำอุณหภูมิลดต่ำลง จะเกิดลมเย็นพัดเข้ามายังบ้านในหน้าร้อน และยังทำให้มีภูมิทัศน์ที่สวยงามอีกด้วย หลังบ้าน ถ้ามีเขาหรืออาคารที่สูงใหญ่กว่า ก็จะบังลมหนาวที่พัดมาจากด้านหลังซึ่งเป็นทิศเหนือได้ดี
5. ทางสามแพร่ง
อาคารสาธารณะจำนวนมากในทั่วโลก เช่น รัฐสภา อาคารที่ว่าการของรัฐฯ หากตั้งตรงทางสามแพร่ง ซึ่งเป็นการวางผังที่งามสง่าเห็นชัดและเน้นความสำคัญของอาคาร แต่ตำแหน่งที่ดีของตัวอาคารนั้น ควรตั้งอยู่บนเนินเขาที่เลยระดับแสงไฟรถส่องเข้ามารบกวนการทำงานของคนที่อยู่ภายใน และเมื่อรถขับเข้ามาใกล้ถนน ควรจะเปลี่ยนแปลงรูปเป็นวงเวียน ให้รถเลี้ยวซ้าย/ขวา แยกย้ายออกไปสำหรับบ้านส่วนตัวที่หลังไม่ใหญ่ และตั้งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับถนนหน้าบ้าน ที่รถวิ่งเข้ามาหาตัวบ้าน แสงไฟรถย่อมส่องเข้ามารบกวนได้ และทำให้เกิดความรู้สึกเสียวไม่ปลอดภัย เหมือนรถจะวิ่งพุ่งเข้ามาชนบ้าน
แต่กรณีทีความจำเป็นต้องอยู่ในลักษณะดังกล่าว ก็แก้ไขได้โดยย้ายประตูรั้วหรือประตูบ้านไม่ให้ตรงกับถนน และปลูกต้นไม้หนาทึบบัง เป็นต้น
จากตัวอย่างต่าง ๆ ข้างต้นจะเห็นได้ว่าทฤษฎี “ฮวงจุ้ย” ส่วนใหญ่ยังใช้ได้กับเมืองไทยและถูกต้องตรง กับหลักวิชาการวางผัง และออกแบบสถาปัตยกรรม เพียงแต่ต้องเลือกเชื่อเลือกใช้ให้เหมาะสม ให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้องเท่านั้น ก็จะทำให้คน “อยู่ดีมีสุข” อย่างแท้จริง
ประทีป ตั้งมติธรรม
ที่มา:supalai
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น